วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรม โรงเรียนดี ศรีตำบล


               การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนดีศรีตำบล (โรงเรียนดีประจำตำบล)ด้วยสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีนโยบายเร่ิงด่วนในการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เป็น "โรงเรียนดี ศรีตำบล"ได้กำหนดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรม 8 จุด 5 รุ่น ทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา โรงเรียนละ 4 ท่าน ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ นายกเทศบาลตำบล และพระสงฆ์วัดใกล้โรงเรียน โรงเรียนหมู่บ้านป่าไม้ห้วยจันทน์ ได้เข้าร่วมประชุม ณ เขาเสด็จ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดสระแก้ว และคณะครูได้เข้าอบรมระหว่าวันที่ 16 -20 พฤศจิกายน 2555 ณ วัดเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
             วันที่ ๑๖ พ.ย.๒๕๕๕ ที่วัดเมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ จัดอบรมเชิงปฏิบัติธรรมหลักสูตรครูทั่วประเทศ เฟส๓ รุ่นที่๓ ประจำปี ๒๕๕๕ ซึ่งมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนดีศรีตำบลสังกัด สพป.ศรีสะเกษ เขต ๑-๔ เข้ารับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น ๔๕๐ คนเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕พรรษา รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตต่อไปโดยมีนายชอุ่ม กรไกร ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต๑ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระมหา ดร.ชัชวาลย์ โอภาโส นธ.เอก ป.ธ.๙เจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย ประธานฝ่ายสงฆ์และเป็นวิทยากรให้ความรู้ในการอบรมระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๐ พ.ย. ๒๕๕๕





วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แท็บเล้ต ป.1 ม.1 ชุดใหม่

มติที่ประชุมคกก.บริหารนโยบายแท็บเล็ต เคาะจัดซื้อแท็บเล็ตป.1 และม.1 ชุดใหม่ในระบบอีออคชั่น
เมื่อ เวลา 10.00 น. วันที่ 5 ต.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ มีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายคอมพิวเตอร์พกพาแท็บเล็ต ซึ่งมี ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช  รมว.ศึกษาธิการ  น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)  เข้าร่วมประชุมด้วย โดย ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการวางแนวทางจัดซื้อแท็บเล็ตป.1 และม.1 ชุดใหม่ โดยการจัดซื้อแท็บเล็ตป.1 จะดำเนินการในปีหน้า ขณะที่แท็บเล็ตม.1 จะดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการจัดซื้อแท็บเล็ตชุดใหม่ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าจะเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างทางอินเทอร์เน็ต หรืออีออคชั่น ซึ่งจะเปิดให้บริษัททั้งภายในและภายนอกประเทศได้แข่งขันกันอย่างเท่าเทียม
น.อ.อนุ ดิษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีได้รายงานความคืบหน้าการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ โรงเรียน พบว่า 24% ของโรงเรียนทั่วประเทศ มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งาน ส่วนโรงเรียนที่เหลือก็มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้งานแล้ว เพียงแต่มีความเร็วไม่มาก ทำให้ไม่สามารถใช้งานแท็บเล็ตระบบออนไลน์ได้ทีละหลายๆเครื่อง ทั้งนี้มองการเปิดประมูลอีออคชั่น ว่าจะช่วยจัดซื้อให้ได้แท็บเล็ตให้ได้ราคาถูก และมีคุณภาพตามที่กำหนด แต่สำหรับรายละเอียดสเปกเครื่องที่จะจัดซื้อชุดใหม่นั้น ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะที่ประชุมวันนี้หารือเพียงนโยบายการจัดซื้อเท่านั้น แต่ก็คาดว่าการประชุมคณะกรรมการฯครั้งหน้าจะมีความชัดเจนเรื่องแนวทางการจัด ซื้อมากขึ้น
ดร.ชิน ภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า แท็บเล็ตป.1 ล็อตสองอีก 4 แสนกว่าเครื่อง ขณะนี้ได้ทยอยส่งมาที่ประเทศไทยแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจรับของคณะกรรมการตรวจรับกระทรวงไอซีที โดยยังเป็นไปตามกำหนดทีโออาร์เรื่องการจัดส่ง ที่ทั้งหมดต้องส่งมาภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้แท็บเล็ตป.1 ในการเข้าอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลโดยกระทรวงไอซีที พบว่า ความถี่การใช้แท็บเล็ตเข้าอินเทอร์มีมากขึ้นหลังได้รับแจกเครื่อง ได้แก่ เดือนมิ.ย.เข้าอินเทอร์เน็ต 1,400 ครั้ง, ก.ค. 14,228 ครั้ง, ส.ค.17,000 ครั้ง และก.ย. 460,000 ครั้ง ซึ่งถือเกินความคาดหวัง ที่ในภาคการศึกษาแรกได้คาดหวังให้ใช้แท็บเล็ตในระบบออฟไลน์   ส่วนรายงานปัญหาต่างของการใช้งานแท็บเล็ต พบ ปัญหาการใช้งานภาพรวมมีประมาณ 0.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ ขณะที่สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาส่วนใหญ่ เกิดจากการใช้งานแท็บเล็ตเกินสเปก อาทิ ในคู่มือกำหนดให้ชาร์ตไฟ 3 ชั่วโมง แต่ปล่อยให้ชาร์ตไฟ 6 ชั่วโมง จนเกิดปัญหา อย่างไรก็ดี ขอเรียนว่าตั้งแต่ดำเนินการแจกแท็บเล็ตไปแล้วกว่า 4 เดือน พบว่าโครงการแท็บเล็ตนี้ดำเนินการไปด้วยความราบรื่น.
ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

นโยบายโรงเรียนขนาดเล็ก

รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายให้ สพฐ.ดำเนินการและรายงานผลเป็นระยะๆ ดังนี้
1. ให้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก 14,000 โรงทั่วประเทศ โดยให้โรงเรียนขนาดเล็กรวมกันเป็นศูนย์เครือข่าย ซึ่ง สพฐ.จะต้องลงไปช่วยเขตพื้นที่การศึกษาวางแผนดำเนินการร่วมกัน ภายในช่วงเปิดเทอมคาดว่าอย่างน้อยจะมีประมาณ 1,000 เครือข่าย
2. ศธ.จะสนับสนุนพาหนะในการเดินทางมาเรียนของครูและนักเรียน โดยจะให้ สพฐ.ตั้งงบประมาณให้ทุกศูนย์เครือข่ายประมาณ  2,000 คันๆ ละประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อให้แต่ละศูนย์เครือข่ายเลือกซื้อรถยนต์รับส่งนักเรียนและครูเอง แต่ไม่ใช่ประมูลจากส่วนกลาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้โรงเรียน
3. ให้ สพฐ.จัดหาครูผู้สอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ไปสอนในโรงเรียนศูนย์เครือข่าย
4. ให้ สพฐ.หารือกับคุรุสภาในการแก้ไขเกณฑ์การได้ใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อให้ครูฝึกสอนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถเข้าไปฝึกสอนในโรงเรียนขนาดเล็กได้ทุกแห่ง แม้จะยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินจาก สมศ.ก็ตาม เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่ผลิตครู ต้องรับผิดชอบมาตรฐานของตนเองอยู่แล้ว
5. ให้ ผอ.สพป.มีบทบาทสำคัญที่จะต้องลงไปใส่ใจในนโยบายการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กครั้งนี้ โดยให้ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรง

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สพฐ.เลื่อนสอบ nt

สพฐ.เลื่อนสอบ NT หลังเจอท้วงเยอะ ผลกระทบมาก ค่าใช้จ่ายสูง
สพฐ.เลื่อนกำหนดสอบ NT ทุกระดับชั้น เดิมประกาศจะเริ่มสอบในปีการศึกษา 2555 เปลี่ยนเป็นนำร่องสอบในระดับ ป.3 เน้นสอบด้านอ่านออกเขียนได้-การคิดเลข-การคิดและให้เหตุผล แต่เดิมสอบทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ขณะที่ เลขา กพฐ.แจง คำทักท้วงเยอะ ผลกระทบเยอะ ค่าใช้จ่ายสูง หากทำจริงๆ ต้องประกาศตั้งแต่ต้นปีการศึกษา
      
       นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.ตัดสินใจเลื่อนแผนการจัดสอบ National Test หรือ NT ทุกระดับชั้น ซึ่งเป็นนโยบายของ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.ศึกษาธิการ ออกไปก่อน จากแผนเดิมที่ตั้งใจจะเริ่มสอบปลายปีการศึกษา 2555 เลื่อนไปเริ่มจัดสอบในปีการศึกษา 2556 แทน ทั้งนี้ เพราะมีคำทักท้วงเข้ามามาก เกรงการสอบ NT ทุกระดับชั้น จะเป็นการเพิ่มภาระที่มากเกินไปให้นักเรียน อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะจัดสอบ NT ในระดับชั้น ป.3 ต่อไป เพื่อเป็นการนำร่องก่อน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       อย่างไรก็ตาม สำหรับชั้น ป.3 นั้น สพฐ.จัดสอบ NT อยู่แล้ว แต่เป็นการสอบ 8 กลุ่มสาระวิชา เพราะฉะนั้น สพฐ.จึงตัดสินใจนำร่องสอบ NT ชั้น ป.3 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 แต่ปรับแนวทางการสอบให้เหลือ 3 ด้านตามแผนที่วางไว้ คือประเมินด้าน 1 การอ่านออกเขียนได้ 2การคิดเลข และ 3 ความสามารถด้านการคิดและการให้เหตุผล ซึ่งการนำร่องนี้จะช่วยให้สพฐ.ได้ประสบการณ์ในการจัดสอบ NT ก่อนลงมือจัดสอบจริงในปีการศึกษาหน้า
      
       นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตามแผนเดิมนั้น สพฐ.จะจัดสอบ NT ในระดับชั้นที่ไม่มีการสอบ O-NET เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 โดยระดับชั้น ป.1-3 จะประเมิน 3 ด้าน คือ 1.การอ่านออกเขียนได้ 2.การคิดเลข และ 3.ความสามารถด้านการคิดและการให้เหตุผล ส่วนช่วงชั้นที่ 2 ระดับชั้น ป.4-5 จะจัดสอบ 5 กลุ่มสาระ คือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ขณะที่ระดับ ม.1-2 และ ม.3-4 จะมีการประเมินทั้ง 8 กลุ่มสาระ
      
       “การจัดสอบ NT ทุกระดับชั้นนั้น เป็นงานในสเกลที่ใหญ่มาก ใช้งบประมาณรองรับถึงประมาณ 280 ล้านบาท เพราะฉะนั้น จึงควรมีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อให้การจัดสอบเป็นไปอย่างมีคุณภาพ สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่อย่างแม่นยำ นำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนได้ อีกทั้ง สพฐ.ก็ตระหนักด้วยว่า หากจะดำเนินการในนโยบายที่เป็นเรื่องใหญ่ มีผลกระทบต่อเด็กจำนวนมาก ควรจะมีการประกาศให้สาธารณชนทราบตั้งแต่ต้นปีการศึกษา ไม่ควรมาเริ่มดำเนินการช่วงกลางหรือปลายภาคเรียน ดังนั้น สพฐ.จึงตัดสินใจ เลื่อนแผนจัดสอบ NT ทุกระดับชั้นออกไป ไปเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2556 แทน ไม่ฝืนเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2555 ซึ่งเหลือเวลาเตรียมตัวอย่างจำกัด” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ในระหว่างนี้นั้น สพฐ.จะจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา ในข้อเสนอดังกล่าวจะนำเสนอแผนงานในภาพรวมที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเรื่องการปรับหลักสูตรและการประเมินผลผู้เรียนด้วย และหาก รมว.ศึกษาธิการ ให้นโยบายที่เกี่ยวกับการสอบ NT มา สพฐ.ก็ต้องปรับแผนดำเนินการตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ แต่ถ้าไม่มีกรทักท้วงใดๆ สพฐ.จะเริ่มสอบ NT ทุกชั้นปีแบบเต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2556

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่

ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ และแต่งตั้งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ และประกาศครั้งสุดท้ายลงวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ นั้น
บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า ได้มีรัฐมนตรีลาออกบางตำแหน่ง สมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๑ และมาตรา ๑๘๓  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
๑. ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีดังต่อไปนี้
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
๒. ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง
นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายวราเทพ รัตนากร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายประชา ประสพดี เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายสนธยา คุณปลื้ม เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการนายประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายชลน่าน ศรีแก้ว เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายประเสริฐ บุญชัยสุข เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นายฐานิสร์ เทียนทอง เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี