วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

การนัดประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา

 

  
  
 คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การนัดประชุม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา
          
                สถานี ก.ค.ศ. ในวันนี้มีกรณีการวินิจฉัยข้อหารืออำนาจนัดประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้มีการปฏิบัติโดยถูกต้อง ดังนี้
          ความเป็นมาของกรณีนี้คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอให้พิจารณาข้อหารือว่า อำนาจเรียกประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นของผู้ใด และในกรณีที่มีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นเลขานุการ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มีอำนาจนัดประชุมโดยไม่รอคำสั่งอนุมัติจัดประชุมจากประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ได้หรือไม่และจะมีผลต่อมติของที่ประชุมหรือไม่ อย่างไร ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พิจารณาวินิจฉัยข้อหารือแล้วเห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 รวมทั้งระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการประชุมของคณะอนุกรรมการ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา แต่อย่างใด จึงต้องนำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ในเรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประชุมมาใช้บังคับ ดังนั้น พิจารณาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า อำนาจเรียกให้มีการประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นอำนาจของประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ตามนัยมาตรา 80 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติว่า "การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ และแจ้งให้กรรมการทุกคนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน เว้นแต่กรรมการนั้นจะได้ทราบการบอกนัดในที่ประชุมแล้ว กรณีดังกล่าวจะทำหนังสือแจ้งนัดเฉพาะกรรมการที่ไม่ได้มาประชุมก็ได้" และมาตรา 80 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า "บทบัญญัติในวรรคสองมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งประธานกรรมการจะนัดประชุมเป็นอย่างอื่นก็ได้" 
          จากบทบัญญัติดังกล่าว การที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นัดประชุมโดยอ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วน โดยไม่รอให้มีคำสั่งอนุมัติจัดประชุมจากประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จึงเป็นการนัดประชุมโดยผู้ไม่มีอำนาจในการประชุมตามกฎหมาย เนื่องจากอำนาจในการพิจารณาว่าปัญหามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเรียกประชุมหรือไม่ เป็นอำนาจของประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ผลหรือมติของการประชุมที่เกิดจากการประชุม ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดการประชุม โดยไม่รอให้มีคำสั่งอนุมัติจัดประชุมจากประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ย่อมไม่มีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
          จากกรณีการวินิจฉัยข้อหารือดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การดำเนินการใดๆ จำต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามบทกฎหมาย รวมทั้งระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกตามบทกฎหมายนั้นๆ เพื่อจะได้ลดปัญหาการร้องเรียน การฟ้องเป็นคดีต่อศาล จะเป็นการดีที่สุด
         
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
 
 
 
 ภาพเพิ่มเติม
ไม่มีความเห็น