วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

• วิกฤต "เรือจ้าง" ไทย หนักทั้ง "ปริมาณ" และ "คุณภาพ" ?

• วิกฤต "เรือจ้าง" ไทย หนักทั้ง "ปริมาณ" และ "คุณภาพ" ?+โพสต์เมื่อวันที่ : 29 ส.ค. 2556
.....
ไม่น่าเชื่อ!!!
คือความรู้สึกที่เกิดขึ้น หลังจากได้ทราบข้อมูลและตัวเลขที่น่าตกใจต่อไปนี้

"อีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา จากข้อมูลพบว่า ระหว่างปี 2556-2560 จะมีครูเกษียณข้าราชการมากถึง 104,108 คน ซึ่งหากรวมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2555 พบว่าขาดแคลนครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ อาทิ ภาษาต่างประเทศ 7,444 คน คณิตศาสตร์ 7,248 ภาษาไทย 6,324 รวมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ แล้ว...

"ในตอนนี้ประเทศไทยกำลังขาคแคลนครู มากกว่า 51,462 อัตรา"
เป็นวิกฤตของ "ครู" ซึ่งนับว่าเป็นอาชีพที่ถือว่าเป็น "ผู้สร้างคน"

เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ พาเด็กไปถึงฝั่งฝันดังที่มีคนเปรียบว่าดุจดัง "เรือจ้าง" ส่งคนจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีครูผู้สอนสั่ง คงไม่มีหมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ และอาชีพอื่นๆ หรือแม้แต่นักการเมืองที่กำลังถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเคร่งอยู่ในสภาขณะนี้

ปัญหาขาดแคลนครูทำให้เจ้ากระทรวงอย่างจาตุรนต์ฉายแสงรมว.ศึกษาธิการ ต้องเรียก เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ รัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าหารืออย่างเร่งด่วน

ในระหว่างที่ฝ่ายบริหารหัวเรือใหญ่กำลังใช้ความคิดเพื่อหาแนวทางอื่นๆ หน่วยงานที่รองลงมาต่างไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปรียบเป็นดั่งโรงงานผลิตครูอย่างเป็นทางการ ต่างพยายามหาทางแก้ปัญหานี้เช่นกัน

รศ.ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้เล่าให้ฟังว่า ทางจุฬาฯไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเราเป็นเหมือนกับต้นทางของการผลิตครูออกไปสู่ท้องตลาด เมื่อประสบกับปัญหาการขาดแคลน ทางเราก็พยายามช่วยแก้โดยเพิ่มโควต้าครูในแต่ละหลักสูตรสาระวิชาที่ขาดให้เพิ่มมากขึ้น สร้างบุคลากรครูให้มากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาอย่างเต็มความสามารถ

แต่หนึ่งในประโยคที่ รศ.ดร.ชนิตาได้กล่าวว่า "ทุกปีจำนวนนักศึกษาครูที่ได้เข้ามาศึกษาเต็มโควต้าที่ทางมหาวิทยาลัยได้เปิดเอาไว้"

แต่เหตุใดประเทศไทยจึงต้องเผชิญกับปัญหา "ขาดครู" เป็นประเด็นที่น่านำไปคิดต่อ

เข้าอู่ต่อเรือใช้เวลาสร้าง 4 ปี จนครบจำนวน แต่ "เรือจ้าง" ไทยหายไปอยู่ไหนหมด?

และไม่เพียงแต่โรงเรียนรัฐเท่านั้น แต่โรงเรียนเอกชนก็ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน ดังที่ อ.โสภณ สกุลเรือง หรือ "มาสเตอร์เปิ้ล" ครูโรงเรียนเอกชนชื่อดังอย่างอัสสัมชัญได้สะท้อนให้ฟังว่า ตอนนี้ครูที่มาสมัครใหม่ในโรงเรียนนั้นน้อยลงกว่าแต่ก่อน เพราะเด็กปัจจุบันให้ความสนใจในสายอาชีพครูน้อยลง เด็กในโรงเรียนที่จบออกไปก็น้อยคนนักที่จะเลือกเรียน

"อาชีพครูเป็นเหมือนทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ หรือค่าตอบแทนของครูจะค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสายอาชีพอื่นๆ รวมถึงนโยบายของรัฐที่ส่งผลให้ครูเอกชนลดลง เพราะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลบุพการีได้เหมือนแต่ก่อน รวมไปถึงเป็นอาชีพที่ต้องดูแล มีภาระที่หนักต้องดูแลชีวิตของคน แต่กลับมีค่าตอบแทนที่น้อย จึงพบกับปัญหาขาดแคลนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน"

ดังนั้น ทางแก้หนึ่งที่ครูจากโรงเรียนเอกชนชื่อดังพอมองเห็นก็คือ รัฐควรสนับสนุนให้อาชีพครูมีความมั่นคงขึ้น อาทิ เพิ่มสวัสดิการด้านต่างๆ เช่น ไม่สบายก็เบิกค่ารักษาพยาบาลมากกว่านี้ มีสวัสดิการดูแล พ่อแม่ ลูกหลาน ในอนาคต ทั้งของรัฐและเอกชน

เพราะเรื่อง "เงินทอง" และ "ความมั่นคง" ในชีวิต ก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้คนตัดสินใจจะก้าวเดินบนสายวิชาชีพ "ครู"
นอกจากเรื่อง "ปริมาณ" แล้ว "คุณภาพ" ของครูก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน

จากการประชุม World Economic Forum 2012-2013 พบว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยจัดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน ตามหลังเวียดนาม ขณะที่ระดับมัธยมและอุดมศึกษาอยู่อันดับ 8 ตามหลังกัมพูชาและฟิลิปปินส์

และอาจเป็นเพราะเหตุนี้เอง ที่ทำให้ภาคเอกชนอย่าง ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงาน "EDUCA 2013" มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู เริ่มต้นจัดงานเพื่อเพิ่มคุณภาพครู

เชิญวิทยากรด้านการศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศมาช่วยอบรมครูไทยที่สมัครใจเพราะครูเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการศึกษา

พร้อมกันนี้ศีลชัยได้ยกตัวอย่างงานวิจัยของแฮรรี่ เค. หว่อง เรื่อง "There is only one way to improve student achivement" ซึ่งแปลได้ทำนองว่า หนทางเดียวที่จะพัฒนาคุณภาพนักเรียน ได้บ่งชี้ว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการคือครู

"จากงานวิจัยพบว่า ไม่ว่าจะลงทุนหรือเพิ่มปัจจัยในด้านใดก็ตามในเรื่องการศึกษา จะไม่สามารถเพิ่มคุณภาพการศึกษาได้ กราฟคุณภาพเด็กนักเรียนไม่กระเตื้อง แต่หากนำครูที่เก่งเข้าไปอยู่ชั้นเรียน กราฟคุณภาพการศึกษาของเด็กกลับพุ่งขึ้นสูงกว่าลิบลับ ชนิดไม่ต้องลงทุน" ศีลชัยกล่าว

อีกเรื่องที่สะท้อนการให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูของชาวต่างชาติ

ซึ่งได้รับการเปิดเผยจาก วิเวก้า ฮาจมาร์ค (Viveca Hagmark) นักเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการศึกษาชาวฟินแลนด์ ประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีระดับ 1 ใน 3 ของโลก บอกว่า สำหรับหลักสูตรของผู้ที่จะเรียนจบออกมาเป็นครูที่ฟินแลนด์นั้น ต้องใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี แถมคนที่อยากเป็นครู คือเด็กนักเรียนระดับหัวกะทิอันดับ 1-5 ของประเทศ

เป็นสถานการณ์ที่กลับกันกับในบ้านเรา


"ครูในประเทศฟินแลนด์มีทั้งปริมาณที่เหมาะ คุณภาพที่ดี อีกทั้งจำนวนเด็กนักเรียนในห้องมีไม่เกิน 20 คนต่อห้อง ใส่ใจได้อย่างทั่วถึง เด็กจบมาแต่ละรุ่นต่างอยากกลับมาเป็นครู รับไม้และส่งต่อ หมุนเวียนเป็นวงจรสร้างคนต่อไปไม่สิ้นสุด" นักเคลื่อนไหวการศึกษาชาวฟินแลนด์กล่าว

เป็นเรื่องร้อนที่ผู้คนในแวดวงการศึกษาทั้งหลายต้องเร่งแก้

ทั้ง "ปริมาณ" ครูที่ขาดแคลน และ "คุณภาพ" ครูที่ต้องเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่

และต้องไม่ลืมว่านี่คือ "อาชีพ" ที่จะสร้างคนเพื่อมาพัฒนาประเทศชาติ

เผยแนวทางแก้ปัญหาครูขาดแคลน

ผลสรุปได้แนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตครู ซึ่ง ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แถลงข่าวในวันที่เป็นประเด็นร้อนว่า ได้ใช้สูตร "สำเร็จรูป" คือ ขยายเวลาปฏิบัติราชการครูในสาขาที่ขาดแคลนออกไปจนถึงอายุ 65 ปี ที่เคยใช้แก้ปัญหาการขาดครูในระดับอุดมศึกษาจนได้ผล จึงได้นำมาใช้กับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา

"แต่ถึงอย่างไรที่ประชุมก็ยังไม่นิ่งนอนใจพยายามวิเคราะห์หาแนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหา หากสูตรสำเร็จรูปเกิดไม่สำเร็จเป็นรูปขึ้นมาจะได้มีสูตรสอง สาม สี่ รองรับแก้ปัญหา" ชินภัทรกล่าว

ล่าสุด จาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ได้เสนอแนวคิดที่สอง โดยจะแก้ไขปัญหาครูกระจุกตัวอยู่ให้กระจายออกไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนครู โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีครูกระจุกตัวอยู่มาก ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในภาวะขาดแคลนครูอย่างหนัก โรงเรียนชนบทบางโรงเรียนมีครูไม่พอ จึงเสนอให้มีการปรับแก้หลักเกณฑ์การโยกย้ายของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในปัจจุบัน เปิดช่องให้กระทรวงศึกษาธิการเข้าไปบริหารจัดการครูได้อย่างเต็มที่

เพราะหลักเกณฑ์ต่างๆ ทำให้การจัดการเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรครูให้ลงตัวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมไปถึงปัญหาครูที่มีอยู่ส่วนใหญ่สอนไม่ตรงกับวิชาที่ตนเองจบการศึกษาเพิ่มมาเป็นปัญหาซ้ำซ้อน จึงต้องมีการเกลี่ยเฉลี่ยแบ่งให้เท่าและทั่วถึงในทุกพื้นที่

แนวคิดนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่ายที่บอกว่าความจริงเราอาจไม่ได้ขาดครูจนถึงขั้นวิกฤต

เพียงแต่กระจุกอุดตันอยู่เท่านั้น

แต่ก็มีเสียงเตือนจากนักวิชาการให้ระวังเสียงต้านจากครูบางส่วนเพราะที่ไปอุดตันกันอยู่ตามโรงเรียนดังจังหวัดใหญ่เป็นเพราะปัญหา "เส้นสาย" ที่พัวพันบังตา ใครอยากอยู่ไหนก็ได้อยู่ ครูจึงไปอยู่รวมกันตามที่ดีๆ อยากสบายไม่ต้องลำบาก

ดังนั้นต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยอีกเรื่องหนึ่ง


โดย สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์

ที่มา : นสพ.มติชน